จีนแชร์ประสบการณ์ ฝุ่น PM 2.5 ทำอุปกรณ์ IT ใน Data Center เสียหาย พร้อมการรับมือกับปัญหา



ทุกวันนี้เราคงทราบกันดีแล้วว่าฝุ่น PM 2.5 นี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราทุกคนเป็นอย่างมาก แต่ถ้าเราจะพิจารณาถึงผลกระทบที่ฝุ่นเหล่านี้จะมีต่อ Data Center กันบ้างล่ะ? ประเทศจีนนั้นเป็นประเทศที่มีปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างยาวนาน และมีประสบการณ์เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากฝุ่นเหล่านี้เป็นอย่างดี ทางทีมงาน TechTalkThai จึงขอนำเนื้อหามาสรุปย่นย่อให้ทุกท่านได้อ่านกันดังนี้ครับ

Credit: ShutterStock.com

เมื่อช่วงปี 2015 ประเทศจีนนั้นมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กรุงปักกิ่ง และ Data Center ของ Baidu ผู้ให้บริการระบบ Search Engine รายใหญ่เองก็ตั้งอยู่ที่นั่นมากถึง 3 แห่งและได้รับผลกระทบเต็มๆ ประเด็นปัญหานี้จึงได้กลายเป็นความท้าทายของทีมงาน Baidu และ Ali Heydari ผู้ดำรงตำแหน่ง Chief Architect ของ Baidu และเคยมีประสบการณ์ในการทำงานที่ Facebook และ Twitter มาก่อน ก็ได้ออกมาเล่าถึงแง่มุมของผลกระทบและการรับมือกับ PM 2.5 ในงาน DCD Internet Conference ในปีนั้นเอาไว้

ปัญหามลภาวะที่กรุงปักกิ่งต้องเผชิญในยามนั้นได้แก่อากาศที่ปนเปื้อนไปด้วย Sulphur Dioxide, Nitrogen Oxide และ PM 2.5 ปริมาณมากและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในบริเวณนั้น ซึ่งถึงแม้ทางภาครัฐของจีนจะพยายามออกมาแก้ไขปัญหาและกำหนดให้มีการปรับปรุงคุณภาพอากาศ แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก และปัญหาดังกล่าวก็ส่งผลต่อ Data Center ในบริเวณนั้นด้วย

Data Center ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นคือ Data Center ที่ออกแบบมาให้มีการระบายอากาศแบบ Free Cooling System ซึ่งใช้อากาศจากภายนอกเข้าไประบายความร้อนของอุปกรณ์ต่างๆ ภายใน Data Center เพื่อประหยัดพลังงานใน Data Center นั่นเอง ซึ่งอากาศที่เต็มไปด้วย Sulphur Dioxide, Nitrogen Oxide และ PM 2.5 นี้เองก็ได้ทำให้อุปกรณ์ IT ภายใน Data Center ของ Baidu นั้นเสียหายเป็นปริมาณมากผิดปกติ และกลายเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขกันโดยด่วน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัญหาด้านมลภาวะนี้ถือเป็นปัญหาระยะยาว สิ่งที่ Baidu ต้องรับมือในยามนั้นก็คือการเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการระบายความร้อนของ Data Center ขึ้นมา ซึ่งแนวทางที่ทีมงานของ Baidu คิดขึ้นมาในยามนั้นก็มีหลากหลาย ตั้งแต่การทำให้อากาศนั้นสะอาดขึ้นด้วยสเปรย์น้ำ, สเปรย์สารเคมี และเครื่องกรองอากาศ โดยแนวคิดเรื่องการใช้สเปรย์จับฝุ่นละอองนั้นถือเป็นแนวคิดที่ได้ผลดี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการติดตั้งระบบควบคุมความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้นสำหรับ Data Center

แนวทางหนึ่งที่ถือว่าน่าสนใจมากซึ่งถูกคิดค้นและนำมาใช้ในเวลานั้นก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบระบายความร้อนให้สูงขึ้นโดยไม่ต้องใช้อากาศจากภายนอก ตัวอย่างหนึ่งก็คือแนวคิดของ Bottom Cooling Unit

แนวคิด Bottom Cooling Unit นี้ได้เปลี่ยนจากการใช้ระบบ Chiller แบบรวมศูนย์ เปลี่ยนไปเป็นการติดตั้งระบบคอยล์ระบายความร้อนที่ใต้ตู้ Rack แต่ละตู้แทน และทำการส่งอากาศเย็นอัดเข้าไปในแต่ละตู้ ให้อากาศหมุนเวียนเป็นระบบปิด โดยคอยล์ระบายความร้อนนั้นก็จะทำการระบายความร้อนด้วยโซลูชัน Liquid Cooling เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูง

แนวคิดดังกล่าวนี้นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องมลพิษในอากาศที่จะส่งผลต่ออุปกรณ์ IT ใน Data Center ได้แล้ว ระบบโดยรวมเองก็ยังมีความทนทานมากขึ้น และมีประสิทธิภาพในการระบายอากาศที่สูงด้วยการใช้ Liquid Cooling ภายใน Data Center ได้ และเนื่องจากตัวระบบ Liquid Cooling นี้ติดตั้งอยู่ใต้ตู้ Rack ก็ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากกรณีระบบเสียหายจนของเหลวรั่วออกมานั้นน้อยลง และถึงแม้จะเกิดเหตุดังกล่าวอุปกรณ์ IT ก็ยังไม่เสียหายอยู่ดี

แน่นอนว่าด้วยปัญหาในครั้งนั้นก็ทำให้เหล่าธุรกิจ IT ในจีนตื่นตัวกันมากขึ้นเรื่องของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของ Hardware และ Data Center มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับตอบรับทั้งตลาด IT ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และปัญหาด้านมลภาวะในอากาศที่จะส่งผลต่ออุปกรณ์ IT ภายใน Data Center ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ที่มา: https://www.datacenterknowledge.com/archives/2015/08/03/china-data-center-operators-struggle-with-pollution

CR:https://www.techtalkthai.com/pm-2-5-caused-troubles-for-chinese-data-centers/

View : 720
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและปรับปรุงบริการ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ที่ปุ่ม "ตั้งค่าคุกกี้" Privacy Policy    ยอมรับทั้งหมด