ถาม - ตอบ IPv6

ถาม - ตอบ เกี่ยวกับ IPv6

1. IPv6 คืออะไร

          กลไกสำคัญในการทำงานของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตคือโพรโทคอลอินเทอร์เน็ต ซึ่งใช้หมายเลขอินเทอร์เน็ต หรือ ไอพีแอดเดรส (IP Address) ในการอ้างอิงเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เครือข่ายต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตทั่วโลก เปรียบเสมือนการใช้งานโทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารกัน จะต้องมีเลขหมายเบอร์โทรศัพท์เพื่อให้อ้างอิงผู้รับสายได้ คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในอินเทอร์เน็ตก็ต้องมีหมายเลข IP Address ที่ไม่ซ้ำกับใคร

          มาตรฐานไอพีแอดเดรสที่ใช้กันทุกวันนี้คือ โพรโทคอลอินเทอร์เน็ตรุ่นที่สี่ (IPv4) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการส่งข้อมูลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 ทั้งนี้การขยายตัวของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว และจำนวนหมายเลขไอพีแอดเดรส ของ IPv4 กำลังจะถูกใช้หมดไป ไม่เพียงพอกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคต ซึ่งหากเกิดขึ้นก็หมายความว่าเราจะไม่สามารถเชื่อมต่อเครื่อข่ายเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นได้อีก ดังนั้นคณะทำงาน IETF (The Internet Engineering Task Force) จึงได้พัฒนาโพรโทคอลอินเทอร์เน็ตรุ่นใหม่ขึ้น คือ โพรโทคอลอินเทอร์เน็ตรุ่นที่หก (IPv6) เพื่อทดแทนโพรโทคอลอินเทอร์เน็ตรุ่นเดิม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของตัวโพรโทคอล ให้รองรับไอพีแอดเดรสจำนวนมาก และปรับปรุงคุณลักษณะอื่นๆ อีกหลายประการ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัยรองรับระบบแอพพลิเคชั่น ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลแพ็กเก็ตให้ดีขึ้น ทำให้สามารถตอบสนองต่อการขยายตัวและความต้องการใช้งานเทคโนโลยีบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในอนาคตได้เป็นอย่างดี


2. ทำไมจึงต้องเริ่มใช้ IPv6

          ประโยชน์หลักของ IPv6 และเป็นเหตุผลสำคัญของการเริ่มใช้ IPv6 ได้แก่ จำนวนไอพีแอดเดรสที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนไอพีแอดเดรสเดิม IPv4 แอดเดรส มี 32 บิต รองรับไอพีแอดเดรสได้ประมาณสี่พันล้านหมายเลข ในขณะที่ IPv6 แอดเดรส มี 128 บิต รองรับไอพีแอดเดรสได้ถึงสามร้อยสี่สิบล้านล้านล้านล้านล้านล้านหมายเลข

          ความสำคัญของการมีไอพีแอดเดรสที่ไม่ซ้ำกันและสามารถเห็นกันได้ทั่วโลก จะช่วยผลักดันการพัฒนา แอปพลิเคชั่นที่ต้องการไอพีแอดเดรสจริงเป็นจำนวนมาก เช่นการทำ File Sharing, Video Conference, และ Online Gaming แอปพลิเคชั่นเหล่านี้มีข้อจำกัดภายใต้ IPv4 เนื่องจากผู้ใช้บางส่วนไม่มีไอพีแอดเดรสจริง จึงไม่สามารถใช้แอปพลิเคชั่นเหล่านี้ได้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

          สำหรับองค์กรหรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ การมีไอพีแอดเดรสจริงอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ตามหน่วยงานเหล่านี้ควรมีความเข้าใจถึงข้อจำกัดของการใช้ไอพีแอดเดรสปลอม อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในอนาคตหากต้องมีการรวมเครือข่ายสองเครือข่ายที่ใช้ไอพีแอดเดรสปลอมทั้งคู่ อีกทั้ง การใช้ไอพีแอดเดรสปลอม เป็นการปิดโอกาสที่จะใช้แอปพลิเคชั่นหรือบริการที่กล่าวข้างต้น


3. เมื่อไหร่เราจะต้องเริ่มใช้ IPv6

          ควรเริ่มได้เลยตั้งแต่วันนี้ ไม่เช่นนั้นการขยายตัวของเครือข่ายในอนาคตจะลำบาก ส่งผลทำให้การทำธุรกิจ การเติบโตของธุรกิจ เศรษฐกิจ และการพัฒนาของประเทศชะงักลงด้วย

          ในต่างประเทศ IPv6 ถูกเริ่มใช้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เช่น อเมริกา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ได้มีการใช้ IPv6 ในเครือข่ายหลายแห่งทั้งของภาครัฐและเอกชน ประเทศในทวีปเอเชีย และยุโรป มีความตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนเครือข่ายมากกว่าประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ เนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนหมายเลข IPv4 บริษัทผู้นำทางด้านเทคโนโลยี IPv6 ล้วนตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ ในประเทศไทยการใช้ IPv6 ส่วนใหญ่อยู่ภายในหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  ความจำเป็นประการแรกในการใช้ IPv6 คือการขาดแคลนหมายเลข  IP สิ่งนี้น่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับประเทศในเอเชียเช่น เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงกว่าหมายเลข IPv4 ที่ได้รับจัดสรรมาก ความจำเป็นประการที่สอง ได้แก่ ความต้องการบริการหรือแอปพลิเคชั่นชนิดใหม่เช่น การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 การใช้แอปพลิเคชั่นแบบ Peer-to-peer หรือการพัฒนาเครือข่ายภายในบ้านสำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ก็อาจเป็นแรงผลักดันสำคัญสำหรับการนำ IPv6 มาใช้ ในส่วนของผู้ให้บริการหากไม่ได้มีการวางแผนการปรับเปลี่ยนเครือข่ายเป็น IPv6 ล่วงหน้า อาจทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเสียโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจได้


4. หมายเลข IPv4 จะหมดไปจากโลกนี้จริง ๆ หรือ

          หมายเลข IPv4 ที่มีความยาว 32 บิตนั้น สามารถแตกออกมาได้ทั้งหมดประมาณ สี่พันล้านหมายเลข ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรบนโลกนี้แล้ว จำนวนหมายเลขนี้ยังไม่พอแจกจ่ายให้กับทุกคนบนโลกนี้ด้วยซ้ำ (จำนวนประชากรโลกในปี 2013 ประมาณ 7 พันล้านคน) จริงอยู่ว่าไม่ใช่ทุกคนบนโลกนี้ที่ต้องการไอพีแอดเดรสเป็นของตัวเอง แต่แนวโน้มของการใช้อุปกรณ์ที่มีไอพีแอดเดรสต่อคนก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เป็นต้น

          IANA ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลไอพีแอดเดรสได้จัดสรรชุดหมายเลข IPv4 ให้แต่ละภูมิภาคหมดไปตั้งแต่ ๓ กุมภาพันธ์ 2554 และเมื่อเดือนเมษายน 2554 ทาง APNIC ที่ดูแลการจัดสรรไอพีแอดเดรสในภูมิภาค Asia Pacific ก็ได้ประกาศว่าเหลือหมายเลข IPv4 /8 สุดท้ายแล้ว จึงได้มีการวางนโยบายและข้อกำหนดในการจัดสรรไอพีแอดเดรสที่เข้มงวดขึ้น โดยจะแจกให้ครั้งละ 1024 หมายเลขเท่านั้น ทำให้การขอหมายเลข IPv4 ยากลำบากมากขึ้น ส่วนภูมิภาคอื่น ๆ ก็เพิ่มความเข้มงวดในการจัดสรรหมายเลข IPv4 เช่นกัน


5. NAT (Network Address Translation) น่าจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนหมายเลข IPv4 ไม่ใช่หรือ

          จริงอยู่ว่าการใช้ NAT จะช่วยเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ โดยสามารถมีอุปกรณ์จำนวนมาก เชื่อมต่ออยู่ภายใต้ไอพีแอดเดรสจริง 1 หมายเลข จึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหาขาดแคลนหมายเลข IPv4 ที่ได้รับความนิยม

          อย่างไรก็ตาม NAT ทำให้เกิดปัญหาที่สำคัญตามมาด้วย นั่นคือ เมื่อใช้ NAT ลักษณะการเชื่อมต่อจะไม่เป็นแบบ End-to-end อีกต่อไป จุดปลายทางของการเชื่อมต่อแทนที่จะเป็นคอมพิวเตอร์ กลับกลายเป็นอุปกรณ์ NAT Router การสื่อสารจะเป็นลักษณะทางเดียว จากโฮสต์ข้างหลัง NAT Router ไปยังเซิฟเวอร์/อุปกรณ์ข้างนอก แต่ไม่สามารถสื่อสารในทางกลับกันได้ โฮสต์ที่อยู่ข้างหลัง NAT Router จะมองไม่เห็นจากภายนอก จึงไม่สามารถให้บริการเป็นเซิฟเวอร์ หรือบริการ Peer-to-peer อื่นๆ เช่น Voice-over-IP, Online Gaming ได้ การที่รูปแบบการสื่อสารแบบ End-to-end ถูกละเมิดจากการใช้ NAT ทำให้เกิดผลกระทบอย่างอื่นตามมา เช่น การใช้งาน IPSEC เป็นไปได้ยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจาก NAT Router จำเป็นต้องแก้ไข Packet Header ดังนั้นข้อมูลใน Packet จึงไม่ถือว่าสมบูรณ์และปลอดภัย


6. จริงหรือไม่ว่าเมื่อใช้ IPv6 แล้ว สามารถแจกจ่ายหมายเลข IP ได้มากมายไม่จำกัดจำนวน

          หมายเลข IPv6 นั้นมิได้มีมากมายไม่จำกัด จำนวนหมายเลข IPv6 นั้นมีจำกัดอยู่ 3.4x1038 หมายเลข หากเปรียบเทียบกับ หมายเลข IPv4 แล้ว หมายเลข IPv6 มีจำนวนมากกว่าถึง 296 (7.92x1028) เท่า ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มากมายเกินกว่าจะจินตนาการได้ ดังนั้นเราจึงได้ยินคนพูดกันเสมอว่า IPv6 สามารถจัดสรรหมายเลข IP ได้เกือบไม่จำกัดจำนวน


7. เราสามารถแจกหมายเลข IPv6 ให้กับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ได้จริงหรือ

          จริงอยู่ว่า IPv6 สามารถแจกจ่ายไอพีแอดเดรสได้เป็นจำนวนมากมายมหาศาล บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายรายต้องการกำหนดไอพีแอดเดรสให้กับอุปกรณ์ของตน โดยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการเชื่อมต่อกับเครือข่าย จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการกำหนดหมายเลข IPv6 ให้กับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งของที่ไม่ต้องการการสื่อสารผ่านเครือข่าย แม้ว่าเราสามารถใช้ IPv6 เพื่อระบุสิ่งของต่างๆ แต่เทคโนโลยีอื่นก็สามารถทำได้ เช่นเทคโนโลยี RFID เป็นต้น


8. IPv6 จะทำให้อินเทอร์เน็ตเร็วขึ้นหรือไม่

          IPv6 ในตัวมันเองนั้นไม่ได้เร็วไปกว่า IPv4 เพียงแต่ว่า IPv6 ถูกออกแบบมาให้ทำงานได้ดีกว่า และมีประสิทธิภาพกว่า IPv4 ข้อผิดพลาดที่พบใน IPv4 ถูกแก้ไขใน IPv6 และ IPv6 มีคุณลักษณะพิเศษบางประการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสาร ตัวอย่างเช่น IPv6 Header มีขนาดคงที่ ทำให้เร้าท์เตอร์ประมวลผลแพ็กเก็ตได้เร็วขึ้นกว่าการประมวลผล IPv4 Header ซึ่งมีความยาวไม่คงที่ นอกจากนี้ IPv6 ยังมีการทำ Route Aggregation ซึ่งเป็นการจัดสรรชุดหมายเลข IPv6 ตามลำดับขั้นของการเชื่อมต่อ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างหมายเลขชุด IPv6 และภูมิลักษณะของเครือข่าย ช่วยลดภาระในการคำนวณเส้นทางภายในเครือข่ายได้ ทั้งยังเพิ่มความสามารถพิเศษให้กับเครือข่าย เช่น Multicast, IPSEC, Quality-of-service


9. เราจำเป็นต้องเลิกใช้ IPv4 เพื่อเปลี่ยนมาใช้ IPv6 หรือไม่

          ไม่จำเป็น IPv6 และ IPv4 สามารถใช้งานร่วมกันได้


10. การลงทุนปรับเปลี่ยนเครือข่ายไปสู่เครือข่าย IPv6 มีค่าใช้จ่ายเท่าไร

          การปรับเปลี่ยนเครือข่ายไปสู่เครือข่าย IPv6 ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง ผู้ผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น เร้าท์เตอร์ และสวิตช์ ในปัจจุบันรองรับเทคโนโลยี IPv6 อยู่แล้ว เพียงแต่ผู้ใช้อาจยังไม่ได้เลือกใช้ Option นี้ สำหรับอุปกรณ์รุ่นเก่าที่อาจไม่ได้รองรับเทคโนโลยี IPv6 ตั้งแต่แรกนั้น ผู้ใช้สามารถ Upgrade Firmware หรือ Software ของเร้าท์เตอร์และสวิตซ์ได้ไม่ยาก ดังนั้นการปรับเปลี่ยนเครือข่ายไปสู่เครือข่าย IPv6 จึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องกำจัดอุปกรณ์เก่าทิ้งและซื้ออุปกรณ์ใหม่หมด อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่สำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นจะเป็นการลงทุนพัฒนาทรัพยากรบุคคล ให้มีความรู้ความชำนาญในการดูแลและจัดการระบบเครือข่าย IPv6 แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การลงทุนเหล่านี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เนื่องจาก IPv6 จะช่วยลดการใช้แรงงานคนในการบริหารจัดการเครือข่าย ช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และยังช่วยเพิ่มรายได้จากการให้บริการชนิดใหม่ๆ เช่น Multicast, IPSEC, Quality-of-service บนเครือข่ายได้อีกด้วย


11. เมื่อไหร่เราจึงจะบอกได้ว่าอุปกรณ์เร้าท์เตอร์สามารถรองรับการทำงานของ IPv6

          เร้าท์เตอร์เป็นอุปกรณ์เครือข่ายที่ใช้ประมวลผล IP แพ็กเก็ตและส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทาง เร้าท์เตอร์สามารถรองรับการทำงานของ IPv6 ได้ ก็ต่อเมื่อมันสามารถอ่าน header ของ IPv6 แพ็กเก็ตเข้าใจและสามารถหาเส้นทางในการส่งแพ็กเก็ตนั้นต่อไปยังจุดหมายปลายทางได้ ในปัจจุบัน เร้าท์เตอร์ที่รองรับการทำงานของ IPv6 มักจะรองรับการทำงานของ IPv4 ด้วย จึงมักเรียกกันว่า IPv6/IPv4 Dual Stack Router เร้าท์เตอร์มีหลายประเภท และมีความสามารถแตกต่างกันออกไป โพรโทคอลหาเส้นทาง (Routing Protocol) ที่รองรับก็มีหลายประเภท เพื่อความแน่ใจควรตรวจสอบก่อนว่า เร้าท์เตอร์นั้นๆ รองรับการทำงานของ IPv6 บนโพรโทคอลหาเส้นทางตัวไหน (เช่น RIP, OSPF, BGP, PIM-SM) นอกจากนี้ ควรตรวจสอบการรองรับความสามารถพิเศษอื่นๆ ของ IPv6 เช่น การทำ QoS และการทำ Tunneling เพื่อใช้ในเครือข่ายผสม IPv4/IPv6


12. Web server สำหรับ IPv6 ติดตั้งอย่างไร

          Apache เวอร์ชั่น 2 ขึ้นไปจะรองรับ IPv6 เพียงแต่ติดตั้งตัวเครื่องนั้นให้สนับสนุน IPv6 ส่วน Internet Information Server (IIS) ของ Microsoft เวอร์ชั่น 6 ขึ้นไปสามารถรองรับ IPv6 ได้


13. จะเริ่มใช้ IPv6 ในองค์กรได้อย่างไร

          ก่อนอื่นควรตรวจสอบว่าระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (OS) และ Server ภายในองค์กรรองรับ IPv6 หรือไม่ โดยส่วนใหญ่แล้ว Windows ใหม่ ๆ เช่น Windows 8 และ Windows 7 จะรองรับ IPv6 อยู่แล้ว ไม่ต้อง Install ลงอะไรเพิ่ม แต่ใน Windows XP ต้องลง Service Pack 2 ขึ้นไปเพื่อให้รองรับ รายละเอียดว่าสินค้าใดเวอร์ชั่นใดของ Microsoft ที่รองรับ IPv6 บ้าง สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ของ Microsoft  http://technet.microsoft.com/en-us/network/hh994905.aspx

          นอกจากนี้ควรตรวจสอบอุปกรณ์เครือข่ายภายใน เช่น สวิทช์ เร้าท์เตอร์ ว่ารองรับ IPv6 หรือไม่ หรือต้องอัพเกรด Firmware หรือไม่ โดยติดต่อบริษัทที่ขายอุปกรณ์เครือข่ายโดยตรง หากมีการใช้บริการอินเทอร์เน็ต ADSL ควรตรวจสอบว่า ADSL Router และ Wireless Router ที่ใช้อยู่รองรับ IPv6 หรือไม่ สามารถอัพเกรด Firmware ได้หรือไม่ หรือต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ โดยอุปกรณ์ใหม่ส่วนใหญ่ที่ขายในท้องตลาดปัจจุบันรองรับ IPv6 ได้แล้ว แต่ละองค์กรควรติดต่อกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของตนว่ารองรับ IPv6 หรือไม่ มีบริการแจกหมายเลข IPv6 หรือไม่ สำหรับหน่วยงานภาครัฐ สามารถติดต่อสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เพื่อขอรับจัดสรรหมายเลข IPv6 สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐในเครือข่าย UniNet สามารถติดต่อสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา


14. เราควรนำ IPv6 มาใช้อย่างไร

          การนำ IPv6 มาใช้ ควรจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการปรับเปลี่ยนโพรโทคอลอินเทอร์เน็ตจะส่งผลกระทบต่อเครือข่ายทั่วโลกที่เชื่อมต่อกันอยู่ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนไปสู่เครือข่าย IPv6 ล้วน อาจใช้ระยะเวลาเป็นปี เพราะเหตุนี้ ทาง IETF จึงเสนอทางออกเพื่อช่วยในการทำงานร่วมกันระหว่าง IPv4 และ IPv6 ในระหว่างที่เครือข่ายบางแห่งเริ่มมีการปรับเปลี่ยน

          ในช่วงแรก การใช้งาน IPv6 อาจอยู่ในวงแคบ ดังนั้นเราต้องการเทคนิคเพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายที่เป็น IPv6 เข้ากับเครือข่าย IPv4 หรือเครือข่าย IPv6 อื่น เทคนิคการทำงานร่วมกันระหว่าง IPv4 และ IPv6 แบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

          1. Dual Stack—เป็นวิธีพื้นฐานที่สุด โดยใช้ IPv4 และ IPv6 ทำงานควบคู่กัน เมื่อใดที่แอปพลิเคชั่นที่ใช้เป็น IPv4 ข้อมูลก็จะถูกส่งออกผ่านทางเครือข่าย IPv4 เมื่อใดที่แอปพลิเคชั่นที่ใช้เป็น IPv6 ข้อมูลก็จะถูกส่งออกผ่านทาง IPv6 การทำ Dual Stack เป็นทางออกที่ง่ายที่สุดแต่ไม่เหมาะกับการใช้ในระยะยาว เนื่องจากยังจำเป็นต้องใช้หมายเลข IPv4 ที่คอมพิวเตอร์หรือเร้าท์เตอร์ที่ใช้ Dual Stack นั้น

          2. Tunneling—เป็นอีกวิธีที่ใช้กันแพร่หลายเพราะเหมาะสมกับการสื่อสารระหว่างเครือข่าย IPv6 ผ่านเครือข่าย IPv4 การส่งข้อมูลทำได้โดยการห่อหุ้มแพ็กเก็ต IPv6 ภายในแพ็กเก็ต IPv4 ที่ Tunneling Gateway ก่อนออกไปยังเครือข่าย IPv4 ที่ปลายทาง เมื่อเข้าไปสู่เครือข่าย IPv6 จะต้องผ่าน Tunneling Gateway อีกตัวซึ่งทำหน้าที่ถอดแพ็กเก็ต IPv4 ออกเหลือแต่แพ็กเก็ต IPv6 และส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางการทำ Tunneling นี้จะใช้ไม่ได้สำหรับการสื่อสารโดยตรงระหว่างเครื่องในเครือข่าย IPv6 และเครื่องในเครือข่าย IPv4

          3. Translation—ช่วยในการสื่อสารระหว่างเครือข่าย IPv6 และ IPv4 เทคนิคการทำ Translation เป็นการแปลงรูปแบบข้อมูลจากแพ็กเก็ต IPv4 ไปเป็นแพ็กเก็ต IPv6 หรือกลับกัน โดยจะใช้ Gateway ทำหน้าที่เป็น IPv6-IPv4 และ IPv4-IPv6 Translator อยู่ที่ทางออกที่มีการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่าย IPv6 และ IPv4

          ทั้งนี้หลังจากการปรับเปลี่ยนเสร็จสมบูรณ์ เมื่อเครือข่ายต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เป็น IPv6 ทั้งหมด เราสามารถทำการสื่อสารโดยใช้โพรโทคอล IPv6 โดยตรง ซึ่งเราเรียกการสื่อสารลักษณะนี้ว่า Native IPv6 Network


15. ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้ IPv6 แล้วเราจะยังติดต่อกับเครือข่าย IPv4 ได้หรือไม่

          เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้แต่ IPv6 จะไม่สามารถติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้แต่ IPv4 ได้โดยตัวมันเอง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีหลายวิธีที่จะช่วยในการแปลงข้อมูลระหว่างทั้งสองโพรโทคอล เพื่อช่วยให้การปรับเปลี่ยนเครือข่ายทำได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้ Translation Gateway, Tunneling Gateway หรือแม้แต่ Dual-Stack Router ดังนั้นคำตอบสำหรับคำถามนี้คือ “ได้” หากเราพิจารณาความสามารถของเครือข่ายในการเป็นตัวกลางช่วยในการติดต่อระหว่างโพรโทคอลทั้งสอง

          เราสามารถจำแนกความต้องการติดต่อข้ามโพรโตคอลได้สองแบบ แบบแรกคือการใช้งาน IPv6 (ระหว่างอุปกรณ์ IPv6 สองตัว) ที่จำเป็นต้องผ่านบางเครือข่ายที่เป็น IPv4 แบบที่สองคือการที่อุปกรณ์ IPv6 ต้องการติดต่อกับอุปกรณ์ IPv4 โดยตรง ในแบบแรก เราสามารถใช้เทคนิคประเภท Tunneling มาช่วยได้ เช่น 6rd, 6to4 Tunnel, ISATAP, Tunnel Broker, หรือ Manually Configured Tunnel โดยที่แพ็กเก็ต IPv6 จะถูกซ่อนอยู่ในแพ็กเก็ต IPv4 เวลาส่งผ่านเครือข่าย IPv4 ในแบบที่สอง วิธีการจะค่อนข้างยุ่งยากกว่า เนื่องจากต้องมีการแปลงไอพีแอดเดรสและแปลงโพรโทคอล เทคนิคเหล่านี้ได้แก่ NAT64, TRT (Transport Relay Translator), DSTM (Dual-Stack Transition Mechanism) ซึ่งวิธีเหล่านี้ยังมีปัญหาอยู่และไม่รับประกันว่าจะสามารถใช้งานได้กับแอพพลิเคชั่นทุกชนิด

          สรุปแล้ว ในส่วนของผู้ใช้ หากต้องการเปลี่ยนมาใช้ IPv6 และยังต้องการติดต่อกับเครือข่าย IPv4 อยู่ เช่น IPv4 Web Server และ IPv4 Mail Server ขอแนะนำให้ใช้เทคนิค Dual Stack คือใช้ทั้ง IPv6 และ IPv4 ภายในเครื่องเดียว จะดีที่สุด


16. IPv6 จะป้องกันปัญหาไวรัสและอีเมลขยะได้หรือไม่

          คงไม่ได้ เนื่องจาก IPv6 เป็นแค่วิธีการกำหนดหมายเลข IP แบบใหม่ ความเปลี่ยนแปลงของโพรโทคอลจาก IPv4 สู่ IPv6 อยู่เพียงในระดับ Network Layer และไม่ได้กระทบกับ แอปพลิเคชั่นในระดับสูงขึ้น ดังนั้นไวรัสหรืออีเมลขยะจึงไม่มีวันรู้ ทั้งยังไม่สนใจว่าเครือข่ายที่มันผ่านไปเป็น IPv6 หรือ IPv4 สรุปคือ IPv6 คงจะไม่ช่วยป้องกันปัญหาไวรัสและอีเมลขยะ


17. IPv6 จะทำให้เครือข่ายปลอดภัยน้อยลงหรือไม่

          หลายท่านอาจคิดว่าการใช้ NAT จะช่วยให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตปลอดภัย เนื่องจากว่าอุปกรณ์ที่อยู่หลัง NAT ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก และเมื่อเปลี่ยนมาใช้ IPv6 แล้ว NAT ก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป อาจทำให้ความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตน้อยลง

          ความคิดนี้เป็นความคิดที่ผิด เพราะว่าแท้จริงแล้ว ความปลอดภัยนั้นมาจาก Firewall ที่มากับอุปกรณ์ NAT ต่างหาก หาก IPv6 เลิกใช้ NAT แต่ยังใช้ Firewall อยู่ความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตก็ยังคงอยู่ ปัจจุบันก็มี Firewall หลายตัวที่รองรับ IPv6 แล้ว รวมทั้งอุปกรณ์ Intrusion Detection/Protection System (IDS/IPS) และระบบเก็บ Log ด้วย โดยบางอุปกรณ์อาจจะต้องมีการอัพเกรด Firmware เพื่อให้รองรับ IPv6 นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาความปลอดภัยของระบบเครือข่ายและเครื่องแม่ข่ายคือ การให้ความรู้ด้านการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ดูแลระบบและเครือข่ายในองค์กร รวมทั้งการสร้างความตระหนักให้แก่เจ้าหน้าที่และทุกฝ่ายในองค์กร ให้เข้าใจนโยบายรักษาความปลอดภัยและวิธีการป้องกันไม่ให้เป็นติดไวรัสหรือสร้างช่องโหว่ให้ถูกโจมตีได้


18. การเตรียมความพร้อมของภาคประชาชน ต้องทำอย่างไรบ้าง

          การเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเครือข่ายไปสู่ IPv6 เป็นหน้าที่หลักของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และผู้ดูแลเครือข่ายในองค์กร ในภาคประชาชนไม่ควรต้องทำอะไร เพราะการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน IPv4 หรือ IPv6 นั้นไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ในภาคประชาชน ระบบปฏิบัติการสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและอุปกรณ์เคลื่อนที่ (แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่รองรับ IPv6 โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใด ๆ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ท่านใช้บริการอยู่อาจแจ้งให้ท่านนำอุปกรณ์ ADSL Router มาเปลี่ยนเพื่อให้รองรับบริการ IPv6 ที่จะเกิดขึ้น

ผู้บันทึกข้อมูล : wallop
View : 12784
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและปรับปรุงบริการ คุณสามารถเลือกตั้งค่าความยินยอมการใช้คุกกี้ได้ที่ปุ่ม "ตั้งค่าคุกกี้" Privacy Policy    ยอมรับทั้งหมด